วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

อิทธิพลดนตรีตะวันตก

ดนตรีตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย และไทยรับมาใช้ในราชการ ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทหารชาวอังกฤษสองคนชื่อ นอกซ์ (Knox) และอิมเป (Impey) ได้นำแตรฝรั่งเข้ามาเป่าแตรสัญญาณ และบรรเลงเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ ต่อมาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นแตรวงของทหาร ใช้บรรเลงนำขบวนแห่ และบรรเลงเพลงไทย เรียกสั้นๆ ว่า "แตรวง" ซึ่งต่อมานายมนตรี ตราโมท ได้ขนานนามแตรวงนี้ว่า "วงโยธวาทิต" 




ประเทศไทยเริ่มมีเพลงแบบฝรั่ง แต่งโดยคนไทยคนแรกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็เริ่มมีวงดุริยางค์สากลขนาดใหญ่ คือวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เทียบเท่ากับวงออร์เคสตรา ขนาดใหญ่ของฝรั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีการสร้างวงดนตรีขนาดเล็ก เรียกว่า "แย้สแบนด์" ขึ้น มีผลงานเพลงแบบฝรั่งที่คนไทยแต่งขึ้น แล้วต่อมาจึงได้รับขนานนามว่า เพลงไทยสากล มีนักประพันธ์เพลงผลิตผลงานเพลง เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครร้อง และภาพยนตร์มีการสร้างเพลงปลุกใจขึ้น รัฐบาลไทยสมัยนั้น ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นตะวันตก จึงส่งเสริมการดนตรีตะวันตกมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดนตรีตะวันตกได้เพิ่มอิทธิพลขึ้นในประเทศไทย ดนตรีจากสหรัฐอเมริกาผ่านสื่อแบบต่างๆ เช่น วิทยุ และเครื่องเล่นจานเสียง เยาวชนไทยได้หันเหไปสนใจการร้องเพลง และการเต้นรำด้วยลีลาอารมณ์แบบตะวันตก จึงเกิดเพลงไทยสากลตามรูปแบบฝรั่งขึ้นมากมาย รวมทั้งเพลงแจ๊ส เพลงเต้นรำประเภทร้อนแรงจนถึงสมัยของเพลงร็อกในราวปี พ.ศ.๒๕๐๐


ข้อมูลจาก http://www.thaigoodview.com/node/149093   http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=16&chap=7&page=t16-7-infodetail02.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น